Thursday, November 9, 2017

หุ้นประกันชีวิต

การวิเคราะห์หามูลค่าหุ้นประกันชีวิตโดยนักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วไปนั้นทำไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะนักวิเคราะห์ไม่ทราบถึงรายละเอียดของกรมธรรม์แต่ละฉบับของลูกค้าในแต่ละคน หรือแต่ละชนิดของกรมธรรม์นั้นๆ บริษัทมหาชนอย่าง BLA จึงเปิดเผยค่า EV

หลักการทั่วๆไปในการวิเคราะห์คือ การหามูลค่ากิจากร EV หรือ Embedded Value แต่ค่านี้เกิดจากสมมติฐานหลายตัว และต้องนำกรมธรรม์ลูกค้าทุกฉบับมาคำนวณ(โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย)

ในปี 2559 BLA มี EV 54,739 ล้านบาทที่ discount rate 9% และ ROI 4.25% ในขณะที่ market cap. ของ BLA อยู่ที่ 37x1708 = 63,196 ล้านบาท
โดยหลักการวิเคราะห์ธุรกิจอะไรก็ตามเราก็ควรจะเข้าใจวิธีการดำเนินกิจการของบริษัทนั้นๆเป็นอย่างดี การหามูลค่าของธุรกิจประกันชีวิตนั้นมีรายสุทธิ(กำไรขั้นต้น)คือ
1.การรับเบี้ยประกัน(คุ้มครองชีวิตและสุขภาพ)ลบอัตราการเคลม

2.การนำเงินที่ยังไม่ได้จ่ายเคลมไปแสวงหาผลประโยชน์(ระยะสั้น กลาง ยาว ตามอายุสัญญาของกรมธรรม์) เงินส่วนนี้เราเรียกว่า float

3.สำหรับสัญญาระยะยาว(เฉพาะกรมธรรม์หลัก)เช่น whole life 90/20 ถือเป็นสัญญาระยะยาวเป็นสัญญาที่บริษัทได้ผลประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถวางแผนการลงทุนระยะยาวได้ซึ่งจะได้ผลตอบแทน ROI ราวๆ 3%(risk free rate) และอาจจะมากกว่านี้หากมีการผสมกับตราสารหนี้เอกชนและตราสารทุน ซึ่งในภาวะปัจจุบันควรอยู่ที่ 5% แต่บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ได้ 2 แนวทางคือการมรณะ และการคืนเงินซึ่งจะให้ผลตอบแทนแก่ลูกค้าราวๆ 1.75-2.2% (IRR2% ได้รวมค่าใช้จ่ายที่ให้แก่ตัวแทนขายประกันแล้ว) ทำให้บริษัทมี Net interest margin ราวๆ  3% ยิ่งสัญญามีมาเพิ่มเท่าไหร่ก็ยิ่งจะมีกำไรมากขึ้นไปทุกๆปีที่มีการขายประกันเพิ่มและหักลบด้วยสัญญาที่สิ้นสุดลง(ไม่ว่าจะด้วยเหตุการเวนคืนกรมธรรม์หรือลูกค้าเสียชีวิต หรือสิ้นสุดสัญญา90ปีซึ่งอันหลังนี้ค่อนข้างยาก) แต่การลงบัญชีระหว่างหนี้สินและทรัพย์สินต้องทำการ discount ให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน

4.ประเภทออมทรัพย์ระยะสั้น มักจะให้ IRR 2.4 - 2.5% เป็นแบบที่บริษัทขายประกันทำกำไรยากมาก เพราะการให้ผลตอบแทนลูกค้าในระดับ 2.4% น้้นบริษัทจำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรมากกว่านี้ซึ่งทำได้ยังในปัจจุบัน(2560) ดังนั้นบริษัทจะต้องหาผลตอบแทนในระดับ 5% ขึ้นไปเพื่อครอบคุมค่าใช้จ่ายต่างได้แก่ค่า commission ค่าดำเนินการที่เกี่ยงเนื่องกับการรับประกัน ค่าเคลม และค่าดำเนินการส่วนกลาง ในส่วนนี้ BLA มีสัดส่วนเยอะสุด

5.รายได้จากการให้กู้ยืมเงินโดยผู้ถือกรมธรรม์ บริษัทจะได้รับดอกเบี้ยแน่นอนและมีหลักประกันเป็นเงินคงเหลือในกรมธรรม์ของลูกค้า

6.ดอกเบี้ยจากลูกค้าในกรณีที่ลูกค้าชำระเบี้ยมากกว่า 1 งวด/ปี

7.ดอกเบี้ยให้กู้ยืมจากพนักงานของบริษัท

8.การลงทุนในตราสารทุน(หุ้น)ซึ่งเป็นเงินส่วนกำไรสะสมของบริษัท

โดยส่วนใหญ่ผลกำไรเกิดจากสัญญาระยะยาวและเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นของลูกค้าที่นำมาฝากไว้กับบริษัทประกันชีวิต การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตไม่ได้แตกต่างกับธนาคารเลย
ข้อดีกว่าธนาคาร => ไม่มีหนี้เสีย จึงมีกำไรที่แน่นอน, ผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง(หากมีเบี้ยรับสุทธิเป็นบวก), ช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนมีค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นหากตัวแทนไม่มีผลงานค่าใช้จ่ายจะลดน้อยลงไป
ข้อด้อยกว่าธนาคาร => การบริหารทรัพย์สินเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐ ไม่อาจจะนำเงินลูกค้าไปลงทุนนอกกฎเกณฑ์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกบังคับให้ลงทุนในตราสารภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ทำให้ผลตอบแทนน้อยกว่าธนาคาร

ในสภาวะปัจจุบันดอกเบี้ย(risk free rate เช่น Gov. bond) อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้กรมธรรม์ที่บางบริษัทขายไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยมากเกิดความเสี่ยงในแง่การแสวงหาผลกำไรเพื่อมาจ่ายตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า นอกจากนี้กรมธรรม์หลายๆฉบับได้ทำสัญญาไว้เมื่อ 15- 20 ปีก่อนที่มีผลตอบแทน(IRR)ให้ลูกค้าสูงถึง 5%กว่า ทำให้ในปัจจุบันอาจจะทำให้บริษัทกำไรน้อยลงหรือขาดทุนได้(เนื่องจากการชำเบี้ยประกันของลูกค้าเป็นปีละครั้ง แต่สัญญาการตอบแทนเป็นระยะยาว ในปีท้ายๆบริษัทรับเบี้ยเข้ามาแต่ไม่อาจจะไปแสวงหาผลตอบแทนที่ดีได้ ,ตัวอย่างจริง ผมทำประกันเมื่อปี 2546 ได้รับ irr 5.x% ถึงปี 2560 ผมก็ยังจ่ายเบี้ยเป็นรายปีจำนวน 10,000บาท เงินก้อนท้ายๆนี้เองที่บริษัทไม่สามารถนำไปหาผลตอบแทนมากกว่า 5% ได้)
แต่อย่างไรก็ตาม BLA และ AZAY ก็ยังมีผลการดำเนินการที่รับได้โดยเฉพาะ AZAY ที่ทำผลงานได้ดีเนื่องจากมีสัดส่วนประกันออมทรัพย์ระยะสั้นน้อยกว่า BLA มาก

หากดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นนับจากนี้สถานะการณ์จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือสัญญาให้ผลตอบแทนแก่ลูกค้าไว้ต่ำ(สำหรับกรมธรรม์ที่ทำไว้ก่อนนี้ราวๆ 6ปี) แต่บริษัทจะแสวงหาผลตอบแทนได้มากขึ้น ด้วยสัดส่วนระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินตามสัญญาระยะยาวมีสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้ผลกำไรนั้นมีความอ่อนไหวกับดอกเบี้ยมาก

ในส่วนของ AYUD เป็น holding company ถือหุ้นใน
SAGI 100% มีมูลค่าทางบัญชี  1824 ล้านบาท
AZAY 20.17% มีมูลค่าทางบัญชี 2819 ล้านบาท โดยมากจะเน้นการคุ้มครองและสัญญาระยะยาว
และเงินลงทุนราวๆ 2092 ล้านบาท
รวมมูลค่าทางบัญชีได้ 6,735 ล้านบาท(ยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นตามบัญชี) ในขณะที่ market cap. อยู่ที่ 30.25*250 = 7562 ล้านบาท
ถือว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจมาก หากดอกเบี้ยไม่ขึ้นก็เท่ากับว่าผลประกอบการจะเติบโตอย่างช้าๆจาก AZAY เป็นหลัก และเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับราวๆ 5% หรือ 6.25% ก่อนภาษี และโอกาสจะเสียหายมีน้อยมาก แต่ถ้าดอกเบี้ยขยับขึ้นมาก็จะทำให้ AZAY มีกำไรเพิ่มขึ้นเยอะสุดแต่อาจจะยังไม่เห็นผลทันทีภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึง SAGI ที่เป็นบริษัทประกันภัยที่มีการบริหารเงินทุนระยะสั้น(เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับสัญญาประกันภัยที่เป็นแบบ ปีต่อปี)
ส่วน BLA จะสามารถกลับรายการสำรอง LAT( Liability adequacy test) ที่ถูกเพิ่มเป็นจำนวนมากในปี 2559-2560 และยังจะรับรู้รายได้จากผลต่างระหว่าง ROI และมูลค่าตอบแทนให้แก่ลูกค้า




No comments:

Post a Comment